SPCG จับมือ SMA บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากเยอรมนี ประกาศความร่วมมือนำเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าทันสมัยให้บริการคนไทย ขณะที่ “ดร.วันดี” คาดรายได้ SPCG ปี 63 แตะ 1 หมื่นล้านบาท…
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG พร้อมด้วย Mr.Rakesh Khanna Managing Director of SMA India และ Mr.JosephHelweg Head of Global Service Operations APAC ร่วมแถลง “ความร่วมมือด้านการจัดจำหน่าย และการให้บริการระหว่าง บริษัท SPCG และ บริษัท SMA ประเทศเยอรมนี” โดย บริษัทในเครือเอสพีซีจีฯ คือ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ “SPE” ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ และ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ให้บริการอย่างเป็นทางการ (AuthorisedSales & Service Partnership) ของ SMA Solar Technology AG (SMA) ประเทศเยอรมนี
ดร.วันดี กล่าวว่า SPCG เลือกใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) จาก SMA ด้วยเชื่อมั่นในคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ Inverter ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มทุกแห่ง รวมทั้ง การให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้กับลูกค้าทุกราย บริษัทฯ เลือกใช้ Inverter จาก SMA มาโดยตลอด
ทั้งนี้ เมื่อ SMA กำลังมองหา Strategic Partner ในภูมิภาคอินโดจีน และ SPCG ถือเป็นลูกค้าหลักที่มีสัดส่วนมากกว่า 60% ของจำนวน Inverter ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ SPCG จึงเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ในด้านการจัดจำหน่าย และการให้บริการทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน จึงทำให้ SPE และ SPR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทน Authorised Sales & Service Partnership อย่างเป็นทางการ ดูแลลูกค้าของ SMA ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา
ดร.วันดี กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10 % ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาทในปี 63 โดยในส่วนนี้ประมาณ 25-30 % จะมาจากรายได้ต่างประเทศ หลังล่าสุดมุ่งขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีโครงการร่วมทุนอยู่แล้ว 1 โครงการ กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เมืองทอตโตะริ ซึ่งเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยู่ระหว่างรอสรุปร่วมทุนอีก 3 โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัท ไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท เบื้องต้นบริษัทได้ประกาศการร่วมลงทุนไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ ณ เกาะ Ukujima เมืองนางาซากิ มูลค่าโครงการ 5.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ และแล้วเสร็จใน 4 ปีจึงจะรับรู้รายได้เข้ามา และ โครงการโซลาร์ฟาร์ม ณ เมืองฟูกุโอกะ ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่งการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/61
ด้าน Mr.Rakesh Khanna Managing Director of SMA India กล่าวถึงด้านการจัดจำหน่ายว่า SPE จะเข้ามาเติมเต็มในบทบาทของ Authorised Sales Agent ก่อนหน้านี้ ลูกค้าผู้ใช้ Inverter บางราย ประสบปัญหาในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร เช่น เรื่องของกำแพงภาษา และเวลาที่ต่างกันของแต่ละประเทศ ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก SPE จึงเข้ามาช่วยทำให้ลูกค้าผู้ใช้ Inverter ทุกรายได้รับการบริการที่ดียิ่งขึ้นจากเดิม อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาในเบื้องต้นให้ได้ ส่วนของลูกค้ารายใหม่ จะเริ่มจากในประเทศไทย และขยายออกไปในภูมิภาคอินโดจีน
ขณะที่ Mr.JosephHelweg Head of Global Service Operations APAC กล่าวในส่วนของการให้บริการว่า SMA ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของบริการที่ดีและความรวดเร็ว เมื่อSPR เข้ามาเป็น Service Authorized Partnership ก็ยังจะรักษามาตรฐานการบริการในรูปแบบเดียวกัน โดย SPR มีทีมวิศวกรที่ได้รับการฝึกอบรมเชิงลึก จากเจ้าหน้าที่ SMA เยอรมนีทำให้มั่นใจได้ว่ามาตรฐานการบริการจาก SPR จะเทียบเท่ากับการบริการจาก SMA อย่างแน่นอน ทั้งนี้ SPR จะเปิด สายด่วน Call Center ในการรับทราบและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจและความรวดเร็วจากการให้บริการอย่างดีที่สุด.
เครดิต: ไทยรัฐ